ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี เป็นบทความพระราชนิพนธ์ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ที่แสดงให้เห็นถึงการเอาพระทัยใส่ความเข้าพระทัยในปัญหาต่าง ๆ ตลอดจนพระเมตตาของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนา เนื่องด้วยชาวนาแต่ละท้องที่ล้วนมีสภาพชีวิตและความทุกข์ยากที่ไม่แตกต่างกันเลย แม้ว่ากาลเวลาจะผันผ่านไปอย่างไรก็ตาม
ผู้แต่ง
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี
ลักษณะคำประพันธ์
ร้อยแก้ว ประเภทบทความ
จุดมุ่งหมายในการแต่ง
เพื่อแสดงพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและบทกวีจีน
ซึ่งกล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ของชาวนา
ความเป็นมา
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี มีที่มาจากหนังสือรวมบทพระราชนิพนธ์
ในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เรื่อง มณีพลอยร้อยแสง
ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ ให้จัดพิมพ์ขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2533 ในวโรกาสที่พระองค์
ทรงเจริญพระชนมายุครบ 3 รอบ โดยนิสิตคณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รุ่นที่ 41
พระราชนิพนธ์นั้นแสดงให้เห็นแนวพระราชดำริเกี่ยวกับบทกวีของไทยและจีนที่กล่าวถึงชีวิต
และความทุกข์ของชาวนาที่มีสภาพชีวิตไม่ได้แตกต่างกันนัก
"เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากกรวงเป็นเม็ดพราว ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูท้งสิ้น ที่สูชดกำชาบฟัน"
เรื่องย่อ
เนื้อความในตอนแรกของบทความเรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงยกบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งได้กล่าวถึงชีวิตและความทุกข์ยากของชาวนา
ต่อมาทรงแปลบทกวีจีนของหลี่เชินเป็นภาษาไทยทำให้มองเห็นภาพของชาวนาจีน เมื่อเปรียบเทียบกับชาวนาไทยว่า มิได้มีความแตกต่างกัน แม้ในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต คือ ชาวนาเท่าที่ควร ส่วนที่สำคัญที่สุดคือ ทรงชี้ให้เห็นว่าแม้จิตร ภูมิศักดิ์และหลี่เชินจะมีกลวิธีการนำเสนอความทุกข์ยากของชาวนา และทำให้เห็นว่าชาวนาในทุกแห่งและทุกยุคทุกสมัยล้วนประสบแต่ความทุกข์ยากไม่แตกต่างกันเลย
เนื้อเรื่อง
ทุกข์ของชาวนาในบทกวี
เมื่อครั้งเป็นนิสิต ข้าพเจ้าได้เคยอ่านผลงานของจิตร ภูมิศักดิ์ อยู่บ้าง แต่ก็ไม่ได้ศึกษาอย่างละเอียด หรือวิเคราะห์อะไร เพียงแต่ได้ยินคำเล่าลือว่าเขาเป็นคนที่ค้นคว้าวิชาการได้กว้างขวางและลึกซึ้งถี่ถ้วน ในสมัยที่เราเรียนหนังสือกัน ได้มีผู้นำบทกวีของจิตรมาใส่ทำนองร้องกัน ฟังติดหูมาจนถึงวันนี้
เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากกรวงเป็นเม็ดพราว ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูท้งสิ้น ที่สูชดกำชาบฟัน
ดูสรรพนามที่ใช้ว่า "กู" ในบทกวีนี้ แสดงว่าผู้ที่พูดคือชาวนา ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ "ลำเลิก" กับใคร ๆ ว่า ถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน อย่าว่าแต่การลำเลิกทวงบุญคุณเลย ความช่วยเหลือที่สังคมมีต่อคนกลุ่มนี้ในด้ายของปัจจัยในการผลิต การพยุงหรือประกันราคา และการรักษาความยุติธรรมทั้งปวงก็ยังแทบจะเป็นไปไม่ได้ ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจ ชาวนาต่างก็ละทิ้งอาชีพเกษตรกรรมไปอยู่ในภาคอุตสาหกรรมหรือภาคบริการ ซึ่งทำให้ตนมีรายได้สูงกว่าหรือได้เงินเร็วกว่า แน่นอนกว่า มีสวัสดิการดีกว่าและไม่ต้องเสี่ยงมากเท่าการเป็นชาวนา บางคนที่ยังคงอยู่ในภาคเกษตรกรรมก็มักจะนิยมเปลี่ยนพืชที่ปลูกจากธัญพืชซึ่งมักจะได้ราคาต่ำ เพราะรัฐบาลก็มีความจำเป็นที่จะต้องควบคุมราคามาเป็นพืชเศรษฐกิจประเภทอื่นที่ราคาสูงกว่า แต่ก็ยังมีชาวนาอีกเป็นจำนวนมากที่ไม่มีทางที่จะขยับขยายตัวให้อยู่ในสถานะที่ดีขึ้นได้ อาจแย่ลงด้วยซ้ำ แล้วก็ไม่มีสิทธิ์ที่จะอิธรณ์ฎีกากับใคร ถึงจะมีคนแบบจิตรที่พยายามใช้จินตนาการสะท้อนความในใจออกมาสะกิดใจคนอื่นบ้าง แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป
หลายปีมาแล้วข้าพเจ้าอ่านพบบทกวีจีนบทหนึ่ง ผู้แต่งชื่อหลี่เชิน ชาวเมืองอู่ซี มีชีวิตอยู่ในระหว่างปี ค.ศ. 772 ถึง 846 สมัยราชวงศ์ถัง ท่านหลี่เชินได้บรรยายความในใจไว้เป็นบทกวีภาษาจีน ข้าพเจ้าจะพยายามแปลด้วยภาษาที่ขรุขระไม่เป็นวรรณศิลป์เหมือนบทกวีของ จิตร ภูมิศักดิ์
หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส
กวีผู้นี้รับราชการมีตำแหน่งเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นอยู่ในชนบท ฉะนั้นเป็นไปได้ที่เขาจะได้เห็นความเป็นอยู่ของราษฎรชาวไร่ชาวนาในยุคนั้น และเกิดความสะเทือนใจจึงได้บรรยายความรู้สึกออกเป็นบทกวีที่เขาให้ชื่อว่า "ประเพณีดั้งเดิม" บทกวีของหลี่เชินเรียบ ๆ ง่าย ๆ แต่ก็แสดงความขัดแย้งชัดเจน แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร
เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง
เวลานี้สภาพบ้านเมืองก็เปลี่ยนไป ตั้งแต่สมัยหลี่เชินเมื่อพันปีกว่า สมัยจิตร ภูมิศักดิ์เมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สมัยที่ข้าพเจ้าได้เห็นเองก็ไม่มีอะไรแตกต่างกันนัก ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็ยังคงจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป
คำศัพท์
กำซาบ ซึมเข้าไป
เขียวคาว สีเขียวของข้าว ซึ่งน่าจะหอมสดชื่นกลับมีกลิ่นเหม็นคาว เพราะข้าวนี้เกิดจากหยาดเหงื่อ ซึ่งแสดงถึงความทุกข์ยากและความชมชื่นของชาวนา
จิตร ภูมิศักดิ์ นักเขียนชื่อดังของไทยในช่วง พ.ศ. 2473 - 2509 ที่มีผลงานสำคัญในด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี ภาษา และวรรณคดี
จำนำพืชผลเกษตร การนำผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าวไปฝากกับหน่วยงานที่รับฝากไว้ก่อนเพื่อเอาเงินในอนาคตมาใช้ก่อน
ฎีกา คำร้องทุกข์ การร้องทุกข์
ธัญพืช มาจากภาษาบาลีว่า ธญฺญพืช เช่น ข้าว ข้าวสาลี ข้าวโพด ที่ให้เมล็ดเป็นอาหารหลัก
นิสิต ผู้ที่ศึกษาอยู่ในมหาวิทยาลัย
ประกันราคา การที่รัฐ เอกชน หรือองค์กรต่าง ๆ รับประกันที่จะรับซื้อผลผลิตตามราคาที่กำหนดไว้ในอนาคต ไม่ว่าราคาในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม
เปิบ หรือ เปิบข้าว หมายถึง วิธีการใช้ปลายนิ้วขยุ้มข้าวใส่ปากตนเอง
พืชเศรษฐกิจ พืชที่สามารถขายได้ราคาดี พืชเศรษฐกิจที่สำคัญของไทย เช่น ข้าว ยางพารา อ้อย ปาล์มน้ำมัน
ภาคบริการ อาชีพที่ให้บริการผู้อื่น เช่น พนักงานในร้านอาหาร ช่างเสริมสวย
ลำเลิก กล่าวทวงบุญคุณ กล่าวคำตัดพ้อต่อว่า โดยยกเอาความดีที่ตนทำไว้ให้แก่อีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อให้สำนึกบุญคุณที่ตนมีอยู่กับผู้นั้น
วรรณศิลป์ ศิลปะในการประพันธ์หนังสือ
สวัสดิการ การให้สิ่งที่เอื้ออำนวยให้ผู้ทำงานมีชีวิตและสภาพความเป็นอยู่ที่ดีและมีความสะดวกสบาย เช่น มีสถานพยาบาล มีที่พักอาศัย จัดรถรับส่ง
สู สรรพนามบุรุษที่ 2 เป็นคำโบราณ
อาจิณ ประจำ
อุทธรณ์ ร้องเรียน ร้องทุกข์
วิเคราะห์คุณค่าวรรณคดี
คุณค่าด้านเนื้อหา
กลวิธีการแต่ง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี นับเป็นตัวอย่างอันดีของบทความที่สามารถยึดถือเป็นแบบอย่างได้ ด้วยแสดงให้เห็นแนวความคิดชัดเจน ลำดับเรื่องราวเข้าใจง่าย และมีส่วนประกอบของงานเขียนประเภทบทความอย่างครบถ้วน คือ
ส่วนนำ กล่าวถึงบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ที่ทรงได้ยินได้ฟังมาในอดีตมาประกอบในการเขียนบทความ
เนื้อเรื่อง วิจารณ์เกี่ยวกับกลวิธีการนำเสนอบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ และองหลี่เชิน โดยทรงยกเหตุผลต่าง ๆ และทรงแสดงทัศนะประกอบ เช่น
"...ชวนให้คิดว่าเรื่องจริง ๆ นั้น ชาวนาจะมีโอกาสไหมที่จะ "ลำเลิก" กับใคร ๆ ว่าถ้าไม่มีคนที่คอยเหนื่อยยากตรากตรำอย่างพวกเขา คนอื่น ๆ จะเอาอะไรกิน..."
ส่วนสรุป สรุปความเพียงสั้น ๆ แต่ลึกซึ้ง ด้วยการตอกย้ำเรื่องความทุกข์ยากของชาวนา ไม่ว่ายุคสมัยใดก็เกิดปัญหาเช่นนี้ ดังความที่ว่า
"ฉะนั้นก่อนที่ทุกคนจะหันไปกินอาหารเม็ดเหมือนนักบินอวกาศ เรื่องความทุกข์ของชาวนาก็คงยังจะเป็นแรงสร้างความสะเทือนใจให้แก่กวียุคคอมพิวเตอร์สืบต่อไป..."
สำหรับกลวิธีการอธิบายนั้นให้ความรู้เชิงวรรณคดีเปรียบเทียบแก่ผู้อ่าน โดยทรงใช้การเปรียบเทียบการนำเสนอของบทกวีไทยและบทกวีจีน ว่า
"เทคนิคในการเขียนของหลี่เชินกับของจิตรต่างกัน คือ หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตรใช้วิธีเสมือนกับนำชาวนามาบรรยายเรื่องของตนให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง"
หว่านข้าวในฤดูใบไม้ผลิ ข้าวเมล็ดหนึ่ง
จะกลายเป็นหมื่นเมล็ดในฤดูใบไม้ร่วง
รอบข้างไม่มีนาที่ไหนทิ้งว่าง
แต่ชาวนาก็ยังอดตาย
ตอนอาทิตย์เที่ยงวัน ชาวนายังพรวนดิน
เหงื่อหยดบนดินภายใต้ต้นข้าว
ใครจะรู้บ้างว่าในจานใบนั้น
ข้าวแต่ละเม็ดคือความยากแค้นแสนสาหัส
เปิบข้าวทุกคราวคำ จงสูจำเป็นอาจิณ
เหงื่อกูที่สูกิน จึงก่อเกิดมาเป็นคน
ข้าวนี้น่ะมีรส ให้ชนชิมทุกชั้นชน
เบื้องหลังสิทุกข์ทน และขมขื่นจนเขียวคาว
จากแรงมาเป็นรวง ระยะทางนั้นเหยียดยาว
จากกรวงเป็นเม็ดพราว ส่วนทุกข์ยากลำเค็ญเข็ญ
เหงื่อหยดสักกี่หยาด ทุกหยดหยาดล้วนยากเย็น
ปูดโปนกี่เส้นเอ็น จึงแปรรวงมาเปิบกิน
น้ำเหงื่อที่เรื่อแดง และน้ำแรงอันหลั่งริน
สายเลือดกูท้งสิ้น ที่สูชดกำชาบฟัน
บทกวีของหลี่เชินเป็นบทกวีที่เรียบง่าย แต่แสดงความขัดแย้งอย่างชัดเจน คือ แม้ว่าในฤดูกาลเพาะปลูก ภูมิอากาศจะเอื้ออำนวยให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นของผู้ผลิต คือ ชาวนาหรือเกษตรกรเท่าที่ควร หลี่เชินบรรยายภาพที่เห็นเหมือนจิตรกรวาดภาพให้คนชม ส่วนจิตร ภูมิศักดิ์ ใช้กลวิธีการบรรยายเสมือนว่าชาวนาเป็นผู้บรรยายเรื่องราวให้ผู้อ่านฟังด้วยตนเอง อย่างไรก็ตามแนวคิดของกวีทั้งสองคนคล้ายคลึงกัน คือ ต้องการสื่อให้ผู้อ่านได้เห็นว่าสภาพชีวิตชาวนาในทุกแห่งและทุกสมัยต้องประสบกับความทุกข์ยากไม่แตกต่างกัน
สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ได้ทรงเริ่มต้นด้วยการยกบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ ซึ่งแต่งด้วยกาพย์ยานี 11 จำนวน 5 บท มีเนื้อหาเกี่ยวกับความยากลำบากของชาวนาที่ปลูกข้าวซึ่งเป็นอาหารสำคัญของคนทุกชนชั้น พระองค์ทรงเห็นด้วยกับบทกวีนี้และยังทรงกล่าวอีกว่าเนื้อหาบทกวีของจิตร ภูมิศักดิ์ สอดคล้องกับบทวีของหลี่เชิน กวีชาวจีนที่แต่งไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์ถัง แสดงให้เห็นว่าสภาพชีวิตองชาวนาไม่ว่าที่แห่งใดในโลกจะเป็นไทยหรือจีน จะเป็นสมัยใดก็ตาม ล้วนแล้วแต่มีความยากแค้นลำเค็ญเช่นเดียวกัน
ดังนั้นแนวคิดสำคัญของบทความพระราชนิพนธ์เรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี จึงอยู่ที่ความทุกข์ยากของชาวนา และสภาพชีวิตของชาวนาที่ถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอดังความที่ว่า
"...แม้ว่าในฤดูกาลนั้นภูมิอากาศจะอำนวยให้ให้พืชพันธุ์ธัญญาหารบริบูรณ์ดี แต่ผลผลิตไม่ได้ตกเป็นประโยชน์ของผู้ผลิตเท่าที่ควร..."
แม้ว่าในบทความนี้จะไม่ได้มีการเสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหา แต่แนวคิดของเรื่องที่แจ่มแจ้งและชัดเจนดังที่กล่าวมาจะมีผลให้สังคมหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประจักษ์และตระหนักถึงความสำคัญของชาวนา และเล็งเห็นปัญหาต่าง ๆ อันอาจจะนำไปสู่การแสวงหาหนทางแก้ไขในท้ายที่สุด
พระราชนิพนธ์ เรื่อง ทุกข์ของชาวนาในบทกวี แสดงให้เห็นถึงความเข้าพระทัยและเอาพระทัยใส่ในปัญหาการดำรงชีวิตของชาวนาไทย ทั้งยังสะท้อนให้เห็นถึงพระเมตตา อันเปี่ยมล้นของพระองค์ที่ทรงมีต่อชาวนาผู้มีอาชีพปลูกข้าวเป็นหลัก เริ่มชีวิตและการทำงานตั้งแต่เช้าจรดค่ำ ทำงานแบบหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน ตลอดทั้งปี ดังนั้นในฐานะผู้บริโภค จึงควรสำนึกในคุณค่าและความหมายของชาวนาที่ปลูก "ข้าว" อันเป็นอาหารหลักเพื่อการมีชีวิตอยู่รอดของคนไทย
.....อ่านต่อ......
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น